อำนาจ/หน้าที่คณะกรรมการสภาวิชาการ

ามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ ระบุว่า “สภาวิชาการ” หมายความว่า สภาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
มาตรา ๒๐ ให้มีสภาวิชาการ ประกอบด้วย
(๑) ประธานสภาวิชาการ ได้แก่ อธิการบดี
(๒) กรรมการสภาวิชาการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รองอธิการบดีที่เป็นพระภิกษุ คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัย หัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าสถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย และศาสตราจารย์
(๓) กรรมการสภาวิชาการ ซึ่งคณาจารย์ประจำเลือกจากคณาจารย์ประจำคณะ คณะละสามคน
คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสภาวิชาการตาม (๓) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
ให้สภาวิชาการแต่งตั้งรองอธิการบดีซึ่งเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเลขานุการสภาวิชาการโดยคำแนะนำของอธิการบดี

มาตรา ๒๑ กรรมการสภาวิชาการตามมาตรา ๒๐ (๓) มีวาระการดำรงตำแหน่งสองปี แต่อาจได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกได้
นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามวรรคหนึ่ง กรรมการสภาวิชาการตามมาตรา ๒๐ (๓) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) มรณภาพหรือตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติของการเป็นกรรมการสภาวิชาการในประเภทนั้น
ในกรณีที่กรรมการสภาวิชาการตามมาตรา ๒๐ (๓) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และได้มีการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งแทนแล้ว ให้ผู้ที่ได้รับเลือกนั้นอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ในกรณีที่กรรมการสภาวิชาการตามมาตรา ๒๐ (๓) พ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้เลือกกรรมการสภาวิชาการขึ้นใหม่ ให้กรรมการสภาวิชาการซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการเลือกกรรมการสภาวิชาการขึ้นใหม่

มาตรา ๒๒ สภาวิชาการมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
(๑) พิจารณากำหนดหลักสูตร การสอน และการวัดผลการศึกษา
(๒) เสนอการให้ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตร
(๓) เสนอการจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิกสำนักงานวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ สถาบัน สำนัก ศูนย์ หรือวิทยาลัย รวมทั้งการแบ่งส่วนงานในหน่วยงานดังกล่าว
(๔) ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาวิทชาการพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามพระบาลีในพระไตรปิฎก
(๕) พิจารณาการรับสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยด้านพระพุทธศาสนาเข้าสมทบในมหาวิทยาลัย
(๖) พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ต่อสภามหาวิทยาลัย
(๗) พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งรองศาสตราจาร์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษ
(๘) พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งหัวหน้าภาควิชา และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา
(๙) จัดหาวิธีการอันจะทำให้การศึกษา การวิจัย การให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเจริญยิ่งขึ้น
(๑๐) พิจารณาให้ความเห็นแก่สภาวิทยาลัยในเรื่องเกี่ยวกับวิชาการพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย
(๑๑) แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของสภาวิชาการ
(๑๒) ให้คำปรึกษาแก่อธิการบดีและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่สภาวิทยาลัยหรืออธิการบดีมอบหมาย
มาตรา ๒๓ การประชุมของสภามหาวิทยาลัยและสภาวิชาการ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย